การถูกแกล้งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่หนักมากในสังคมไทย เพราะคนไทยติดการล้อเล่นโดยบางครั้งไม่ได้ดูกาลเทศะเลย ทำให้ผู้โดนกระทำค่อนข้างแย่และฝังใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยจะเป็นปัญหามากๆ กับที่ทำงานภายในออฟฟิสทั้งพนักงานประจำหรือฟรีแลนซ์ก็อาจโดนแกล้งไปด้วย ทำให้การทำงานที่เกิดขึ้นไม่ราบรื่นแน่นอน วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีป้องกันและการหลีกเลี่ยงกับเหตุการณ์ที่เรากำลังโดนแกล้งอยู่ให้ปลอดภัยกับตัวเองมากขึ้นกัน
นิ่งเข้าไว้ หากเจอพวกชอบนินทา หรือเอาจุดด้อยมาล้อเป็นเรื่องขำขัน ก็อย่าใจร้อนตอบโต้ด้วยความโกรธกลับไป ตั้งสติไว้ก่อน เพราะยิ่งคุณโกรธมากเท่าไหร่ พวกขี้แกล้งก็จะยิ่งได้ใจที่ยั่วอารมณ์คุณได้ ควรเลือกที่จะนิ่งสงบไว้ ไม่ใส่ใจกับคำ พูดลบๆ ที่ไม่ใช่คำวิจารณ์สร้างสรรค์ คิดเสียว่าเป็นคำพูดไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไรกับงานและชีวิตของเราเลย ถ้าเราเฉยเมย นิ่งกับคำพูดเขาเท่าไหร่ สักพักเขาก็จะเบื่อไปเอง แล้วไปหาเหยื่อรายใหม่ อีกทั้งยังทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นมองว่าคุณมีวุฒิภาวะ ที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีด้วย
เปิดใจคุยกัน ถ้าเล่นบทพระเอกนางเอกแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ไม่มีทีท่าว่าเขาจะหยุดสักที ก็ถึงเวลาที่ต้องหันหน้าคุยกัน เปิดใจคุยกันตรงๆ ไปเลยว่าสาเหตุคืออะไร ขีดเส้นให้ชัดว่าอย่าก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวที่นอกเหนือจากงาน หรือไม่ชอบพฤติกรรมไหนที่เขาแสดงออกมา พยายามสื่อสารออกไปอย่างจริงใจด้วยคำพูดที่สุภาพ นี่เป็นการส่งสัญญาณว่าคุณไม่พอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และคุณก็มีสิทธิปกป้องตัวเองเหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้อีกฝ่ายคิดได้และพยายามปรับตัว หรือเห็นใจเรามากขึ้นก็ได้
เก็บหลักฐานไว้บ้าง คนที่สนุกกับการ Bully คนอื่น ลึกๆ แล้วขาดความมั่นใจในตัวเอง เห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ จะกล้าก็เฉพาะอยู่ต่อหน้าเราเท่านั้น ในกรณีที่โดนกลั่นแกล้งเรื่องงาน อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว พยายามทำงานให้รอบคอบที่สุดและหมั่นอัปเดตให้เพื่อนร่วมงานและหัวหน้ารู้ว่าเราต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง คุณจะได้มีหลักฐานเพื่อยืนยันได้ แต่ถ้าหากคุณโดนตำหนิด้วยถ้อยคำหยาบคาย ข่มขู่ หรือโดนป้ายความผิด ให้บันทึกเหตุการณ์ไว้ จะอัดเสียงหรือถ่ายรูปแล้วใช้เป็นหลักฐานเพื่อปกป้องว่าคุณไม่ใช่ฝ่ายผิด แต่มีคนที่ตั้งใจอยากให้เราผิดให้ได้ นี่แหละตัวปัญหาที่แท้จริง
ระบายออกมาซะ อย่าแบกรับปัญหาไว้คนเดียว เพราะลำพังตัวเราอาจรับมือไม่ไหว ลองปรึกษาหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือฝ่าย HR เพื่อเล่าถึงปัญหาและขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัว แล้วคนทำผิดก็ต้องได้รับโทษ หรือถ้าไม่รุนแรงมากอาจเรียกมาพูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยปรับความเข้าใจกัน จะได้ไม่ไปทำพฤติกรรมนี้กับคนอื่นอีก แต่ถ้าคุณกลัวมากๆ จนไม่ไว้ใจใครเลย ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อจัดการอารมณ์อ่อนไหวของตัวเองก่อน การได้ระบายเรื่องราวให้คนอื่นฟังบ้าง ก็ช่วยลดความเครียดได้ดีทีเดียว
อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแกล้งและคนถูกแกล้งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กรที่ควรช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่ดี แล้วลองกลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สนับนสนุนการ Bully โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า นอกจากนี้ เชื่อหรือไม่ยังมีพนักงานที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้ง 9 แบบที่คุณควรหลีกหนีให้ไกลอีกด้วย