No Widgets found in the Sidebar

“ทำไมถึงคิดจะลาออกจากที่เดิม” เป็นสุดยอดคำถามนิรันดร์กาล ที่ต้องเจอทุกครั้งตอนลาออกจากที่เก่า หรือตอนไปสัมภาษณ์งานที่ใหม่ ซึ่งก็มีหลายต่อหลายเหตุผลในการลาออกที่จะสามารถเลือกไปตอบได้ แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำตอบเท่านั้น เราต้องหา เหตุผลดีๆ เมื่อออกจากงาน แต่ยังรวมถึงการใช้ไหวพริบและการแสดงออกในการตอบคำถามนี้ด้วย รวมถึงฟรีแลนซ์เองก็เช่นกัน ว่าจะทำยังไงให้ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทเก่า รวมทั้งทำยังไงให้บริษัทใหม่สนใจในตัวคุณ จนต้องการให้คุณเข้าไปร่วมงานด้วย มีแนวทางการตอบอย่างมีชั้นเชิงมาฝาก

ทำยังไงเมื่อต้องหา เหตุผลดีๆ เมื่อออกจากงาน ให้บริษัทแบบเป็นมิตรที่สุด

ทำยังไงเมื่อต้องหา เหตุผลดีๆ เมื่อออกจากงาน ให้บริษัทแบบเป็นมิตรที่สุด

1. มองไม่เห็นความไม่ก้าวหน้าในอาชีพ

เมื่อคุณรู้สึกว่างานปัจจุบันที่ทำมันชนกำแพง มองไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพ แทนที่คุณจะตอบตามความรู้สึกออกไป ให้คุณตอบแบบนี้ดีกว่า…

‘โชคดีที่ฉันได้ทำโปรเจกต์ที่ท้าทายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากับบริษัท ABC มันช่วยให้ฉันได้ฝึกทักษะและเพิ่มความชำนาญในการทำงาน เรื่องการสร้างแบรนด์ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นเทคอย่างมากเลยทีเดียว ทำงานที่นี่ ฉันมีความสุขและสนุกกับงานมาก แต่ฉันคิดว่าตอนนี้น่าจะถึงเวลาที่จะลองไปหาความท้าทายใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อความเติบโตในอาชีพต่อไป’

2. เข้ากับหัวหน้าไม่ได้

หากคุณอยากลาออกจากงาน เพราะไม่ชอบหัวหน้า เข้ากับหัวหน้าไม่ได้ ทำงานด้วยแล้วต้องมีการปะทะกันตลอด มีมุมมองหรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน หัวหน้าไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นใคร หรืออาจมีเหตุผลอื่น ๆ อีก แต่คุณไม่ควรเอาเหตุผลพวกนี้ไปตอบ เพราะจะทำให้คุณดูไม่ดี ดูไม่มืออาชีพ คุณควรตอบคำถามให้เป็นไปในทางบวก จะทำให้คุณดูเป็นคนมีความฉลาดทางอารมณ์ และจะดูมีความน่าสนใจมากกว่าพูดแต่เรื่องร้าย ๆ แย่ ๆ ของหัวหน้า แนวทางการตอบ…

‘ฉันเชื่อว่าสไตล์การทำงานที่เข้ากัน หรือเคมีที่ตรงกันของหัวหน้ากับลูกน้องในทีมเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะจะทำให้งานออกมาดี แถมบรรยากาศในการทำงานก็ดีด้วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เคมีของทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มไม่ตรงกันแล้ว ฉันคิดว่าปัญหาจะเริ่มเกิด การทำงานจะเริ่มติดขัดและยากขึ้น ฉันเลยอยู่ในสถานการณ์บังคับให้ต้องตัดสินใจ ในการหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ใช่ และเข้ากับสไตล์การทำงานของตัวเอง’

3. ต้องการเปลี่ยนสายงาน

เหตุผลในการออกจากงานที่ฟังดูแล้วยากที่จะดึงให้คุณทำงานต่อกับที่ทำงานเก่า คือ คุณต้องการเปลี่ยนสายงาน เปลี่ยนไปทำงานที่คุณชอบ งานที่คุณอยากทำ แต่ไม่ได้เลือกเดินสายนั้นมาตั้งแต่ต้น สมมติว่าคุณเรียนจบไอทีมา งานที่เริ่มทำก็เป็นงานด้านไอที แต่ชอบเขียนนั่นเขียนนี่เป็นชีวิตจิตใจ เลยอยากเปลี่ยนสายงานมาทำงานเขียน คุณอาจจะให้เหตุผลประมาณว่า…

‘ฉันอยากลองเปลี่ยนสายงานมาทำงานเขียนดู เพราะฉันชอบเขียนเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว ตอนนี้ก็มีเขียนเรื่องต่าง ๆ ลงบล็อกของตัวเองอยู่ มันอาจจะยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ฉันลองค้นหาตัวเองและคิดทบทวนอยู่นานว่าจะเปลี่ยนสายงานดีมั้ย คำตอบคือ ฉันควรลอง เพราะถ้าไม่ลอง ก็ไม่รู้ ว่าฉันก็ทำงานตรงนี้ได้เหมือนกัน’

4. ได้เงินเดือนมากขึ้น

เงินอาจไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่เงินก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต การเปลี่ยนงานเพราะที่ใหม่ให้เงินเดือนสูงกว่า ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถ้าจะเอาเหตุผลนี้มาบอกแบบทื่อ ๆ ตรง ๆ มันก็ดูเหมือนว่า คุณให้ความสำคัญกับเงินมากกว่างานเกินไป คุณลองตอบแบบนี้ น่าจะดูดีกว่า…

‘หลายปีที่ได้ทำงานกับบริษัท ABC ฉันรู้สึกดีที่บริษัทให้โอกาสฉันได้เรียนรู้การทำงานต่าง ๆ ได้พัฒนาทักษะและศักยภาพในการทำงานมากมาย ฉันได้ประสบการณ์การทำงานจากที่นี่เยอะเลย บรรยากาศในการทำงานที่นี่ก็เป็นกันเอง ทุกคนเหมือนพี่เหมือนน้อง แต่ฉันคิดว่าตอนนี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะ ที่ฉันจะได้ลองไปหาความท้าทายใหม่ ๆ ที่มากขึ้น’

5. มีเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่น

คนที่ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องงาน แต่มีชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น คนที่อยากให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หรือคนที่อยากให้เวลากับตัวเองมาขึ้น หรือคนที่ชอบทำงานในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด ก็จะมองหางานที่มีเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่น และนี่คือแนวทางการตอบคำถามของเหตุผลนี้…

‘ฉันเชื่อว่าการทำงานหนัก จะทำให้งานสำเร็จและออกมาดี แต่ฉันคิดว่างานจะดีได้มากขึ้นอีก ถ้าฉันทำงานในสภาพแวดล้อมที่สามารถยืดหยุ่นได้ อย่างเช่นบางวันอาจจะทำงานที่บ้านได้ ทำงานไปด้วย ดูแลลูกเล็กไปด้วย ไม่ต้องมัวพะวงเรื่องลูกเกินไปจนกระทบกับเรื่องงาน หรืออาจจะไปหา co-working space เก๋ ๆ นั่งทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปิ๊งไอเดียใหม่ ๆ ได้ดีกว่าเดิม หรือจะเป็นการที่มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น ก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจ และกระตุ้นไอเดียในการทำงานได้มากกว่านั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศตลอดทั้งวัน และทุกวัน น่าเสียดายที่บริษัทปัจจุบันที่ทำอยู่ไม่ได้มีนโยบายนี้ ทำให้ฉันมองหาบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ตอบโจทย์กับตัวฉันเอง’

ไม่ว่าเหตุผลในการออกจากงานของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณตอบจะต้องเป็นไปในทางบวก ต้องไม่พูดกระทบที่ทำงานเก่า และพยายามทำคะแนนกับที่ทำงานใหม่ ถ้าหัวหน้าคุณถาม ให้คุณตอบแบบถนอมน้ำใจเข้าไว้ ให้จากกันด้วยดี เพราะอนาคตคุณอาจเจอกับหัวหน้าคนเก่าในที่ทำงานใหม่ต่อ ๆ ไปก็ได้ หรือถ้า HR ที่ใหม่ถาม ก็ให้คุณใช้ไหวพริบในการตอบ ให้เหตุผลในทางบวก ใส่ชั้นเชิงในการตอบลงไป ทำให้เค้าประทับใจและเทคะแนนให้คุณให้ได้